วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ลักษณะทั่วไปของช้าง

ลักษณะทั่วไปของช้าง

เป็นสัตว์บก ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสัตว์เลือดอุ่น และเลี้ยงลูกด้วยนม ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินพืช เป็นอาหาร มองจากภายนอก จะเห็นว่า ช้างมีลักษณะ ที่แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ เช่น รูปร่างใหญ่โต มีงวงที่ยื่นยาวออกมา มีงาสีขาว 1 คู่อยู่ข้างริมฝีปาก มีใบหูที่กว้างใหญ่ โบกพัดไปมา ศีรษะโต ตาเล็ก ขาใหญ่ตรง และหางที่ยาว จนเกือบจะพื้นดิน

ศีรษะ

ศีรษะของช้างเอเชีย จะกว้างมี 2 โหนกหรือลอน ส่วนช้างแอฟริกา จะแหลมเล็ก และมีโหนก หรือลอนเดียว จะเรียกโหนกนี้ว่า "โหนกน้ำเต้า" มีมันสมองเล็ก เมื่อเทียบกับขนาดตัว สมองมีขนาด กว้าง x ยาว x สูง= 15 x 20 x 12.50 เซนติเมตร หนักประมาณ 5 กิโลกรัม กะโหลกศีรษะ มีลักษณะ เป็นโพรงอากาศ คล้ายรังผึ้ง จึงมีน้ำหนักเบา มีสมองอยู่ตรงส่วนกลาง ความฉลาดของช้าง ไม่ได้สัมพันธ์ กับขนาดของศีรษะ หรือสมอง ช้างมีศีรษะใหญ่ เพื่อรองรับ แรงกระแทกกระทั้น ที่เกิดจากการ ออกแรงของงวง กรามและงา ศีรษะกับงวงสัมพันธ์กันคือ ถ้าศีรษะใหญ่ งวงก็ใหญ่ด้วย ช้างที่มีศีรษะที่ใหญ่โต ถือเป็นลักษณะอุตมะ เป็นมงคล เป็นลักษณะดีในตัวช้าง หน้าที่ของศีรษะ ช่วยป้องกัน การกระทบกระเทือน อันอาจเป็นอันตราย ต่อระบบประสาทหู ต่อมสมองในช้าง ที่มีอายุน้อย ศีรษะจะมน หรือกลม เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ศีรษะจะโตตาม และพองขึ้น เป็นโหนก หรือลอน 2 ลอน โบราณว่า ถ้ารองกลางโหนกแคบ เกือบติดกัน แสดงว่าเป็นช้างสอนง่าย ไม่เกเร แต่ถ้าร่องกว้าง เป็นแอ่งน้ำขังได้ จะดื้อ สอนยาก

หู

ช้างมีใบหูที่กว้างใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย ประมาณ 65-85 เซนติเมตร มีรูหูขนาดเล็กมาก ขอบใบหูอยู่ต่ำกว่าศีรษะ โคนใบหูจะหนา แล้วค่อย ๆ ลดบางลง ทางขอบปลายหู ส่วนล่างซึ่งบางที่สุด มีลักษณะขาดเว้า ๆ แหว่ง ๆ กะรุ่งกะริ่ง ลักษณะเช่นนี้ สามารถบอกได้ว่า ช้างมีอายุมาก หรือน้อย ปกติช้างจะโบกหูไปมา เพื่อรับรู้เสียงต่าง ๆ ถ้าใบหูกางนิ่ง แสดงว่ากำลังชั่งใจ แต่ถ้าหูลู่เข้าหาลำคอ แสดงว่า ช้างกำลังจะโถมเข้าใส่ ช้างเอเชีย จะมีขนาดเล็กกว่าช้างแอฟริกา และขอบบน ของใบหูช้างเอเชีย จะอยู่สูงไม่พ้นระดับหัว สำหรับช้างแอฟริกาขอบใบหู จะอยู่สูงกว่าระดับหัว

ตา

ช้างจะมีตาขนาดเล็ก มีขนตาค่อนข้างยาว แต่มีสายตาไม่ค่อยด ีระยะแค่ 15-20 เมตร ก็อาจมองไม่ค่อยเห็นศัตรู หรือสิ่งแปลกปลอมแล้ว อาศัยที่มีจมูกดี ใช้ในการดมกลิ่นแทน ตำแหน่งตา จะตั้งอยู่ในแนวขนานกับใบหู เลนซ์ตาของช้าง เป็นเลนซ์นูน ทำให้ช้าง มองเห็นสิ่งต่างๆ ค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นช้างจึงเห็นควาญ โตกว่าความเป็นจริง คนเราจึงสามารถ ควบคุมช้างได้ ม่านตาของช้างมีสีเขียว น้ำตาล จนถึงสีน้ำเงินม่วง (Evans et al., 1970.) มีผู้ศึกษาว่า ช้างเอเชียมองเห็น สีแดง เหลือง ขาว ได้ดีกว่า สีเขียว หรือสีน้ำเงิน

งวง

เป็นส่วน ที่เจริญมาจากจมูก และริมฝีปากบน ที่ปลายงวงของช้างเอเชีย มีจงอยเดียว ต่างจากช้างแอฟริกา ที่มี 2 จงอย และมีรูจมูก 2 รู งวงทำหน้าที่ เป็นทั้งจมูก และมือ ใช้หายใจ ดมกลิ่น ดูดน้ำ หยิบจับสิ่งของ งวงมีความยาวกว่าขาเล็กน้อย โคนงวงจะใหญ่แล้วค่อย ๆ เรียวเล็กลงมา งวงประกอบด้วย กล้ามเนื้อประมาณ 100,000 มัด สามารถงอ และบิด ได้ทุกทิศทาง เพราะไม่มีกระดูก จงอยทำหน้าที่แทนจมูก หยิบ หรือคีบของเล็ก ๆ ได้ ช้างใช้งวงดูดน้ำ พ่นน้ำเข้าปาก พ่นใส่ตัวเอง เพื่อระบายความร้อน ช้างสามารถดูด หรือพ่นน้ำได้ โดยไม่สำลัก เพราะมีระบบ ปิดเปิด ที่โคนงวง ที่มีประสิทธิภาพ งวงยังเป็นเรดา รับรู้กลิ่นได้ไกลถึง 50 เมตร ด้วยการส่ายงวง หาตำแหน่งที่มาของกลิ่น ประสาทสัมผัสของช้าง มีสัดส่วนระหว่าง กลิ่น : เสียง : ภาพ = 60 : 30 : 10 แสดงว่า การได้กลิ่น ดีกว่าการมองเห็น เมื่อยามมีภัยอันตราย ช้างจะใช้งวงเคาะพื้น เพื่อส่งสัญญาณ ระวังภัยแก่ลูกโขลง หรือบอกเจ้าของ ในการเดินทางค่ำคืน ว่าถึงจุดหมายปลายทางแล้ว งวงยังช่วยตรวจสอบพื้นที่ ๆ จะเหยียบ ว่าสามารถเหยียบได ้หรือไม่ เมื่อถูกแมลงรบกวน จะใช้งวงพ่นทรายไล่

งา

เป็นส่วนของฟันตัด ที่พัฒนาเจริญงอกยาว ออกมาจากขากรรไกรบน มี 2 กิ่ง อยู่ตรงมุมปาก 2 ข้าง
ช้างเอเชียมีเฉพาะในช้างเพศผู้ ช้างเพศผู้ ที่มีงาเรียก "ช้างพลาย"ช้างเพศผู้ที่ไม่มีงาเรียก "ช้างสีดอ" ช้างพัง หรือช้างเพศเมีย จะมีงาที่ไม่พัฒนา งอกออกมาพ้นริมฝีปาก หรือออกมาสั้น ประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียกว่า "ขนาย" ดังนั้นช้างสีดอ หรือช้างพัง จึงถือว่าไม่มีงา

งา มี 2 ชนิด คือ
1. งาปลี มีลำใหญ่วัดรอบประมาณ 15 นิ้ว แต่ยาวไม่มาก
2. งาหวาย หรืองาเครือ ขนาดวัดโดยรอบประมาณ 14 นิ้ว แต่ยาวรี


ช้างอายุ 2-5 ปี งาจะงอกเป็นตุ่มนิ่ม มีเลือดมาเลี้ยง คล้ายฟันน้ำนมเด็ก ต่อมามีฟอสฟอรัสมาเกาะ ทำให้แข็งแรงขึ้น งาช้างมีหลายชั้น สวมกันเป็นปลอก ติดแน่นแยกไม่ได้ ซึ่งชั้นในสุด เกิดทีหลังสุด งาส่วนที่โผล่ออกมา เป็น2/3 ของงาทั้งหมด อีก1/3 จะฝังอยู่ในกะโหลก (มีความยาวเท่ากับ ระยะวัด จากตาไปยังริมฝีปาก ตรงตำแหน่งที่งางอกออกมา) ส่วนนี้กลวง มีเส้นประสาท และเลือดมาเลี้ยง เส้นประสาทนี้ ไปสิ้นสุดที่ ปลายงา ๆ จึงมีความรู้สึก เหมือนกับฟันของคน งาช้างเอเชียหนักประมาณ 45-50 กิโลกรัม ยาวประมาณ 9 ฟุต ส่วนงาช้างแอฟริกา หนักประมาณ 100 กิโลกรัม ยาวประมาณ 10 ฟุต ถือกันว่า งาเปรียบเสมือนเครื่องประดับ ทำให้ช้างดูน่าเกรงขาม (ธีรภาพ, 2541) ช้างบางเชือก อาจมีงาข้างเดียว และถ้ามีข้างขวา ถือว่านำโชค ให้เจ้าของ งาจะเจริญในอัตรา17 เซนติเมตรต่อปี งามีคุณสมบัติแข็งแรงมาก ไม่ไหม้ไฟ ซึมน้ำเล็กน้อย และเปลี่ยนสีน้อย อีกอย่างสามารถใช้ ทดสอบอาหารที่มีพิษได้ โดยงาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ถ้าอาหารนั้นเป็นพิษ

ฟัน

ช้างมีฟันทั้งหมด 6 ชุด เป็นฟันน้ำนม 3 ชุด ฟันแท้ 3 ชุด ฟันน้ำนมชุดแรก จะติดมากับลูกตั้งแต่เกิด ฟันช้างประกอบด้วย ฟัน (งา) มี 1 คู่บน ฟันกรามล่างมี 6 ซี่ ฟันกรามบนมี 6 ซี่ เขี้ยวไม่มี ฟันมีลักษณะเป็นแผ่น หรือมีสันร่อง เป็นรูปวงรีซ้อนกัน ในช้างเอเชีย (ช้างแอฟริกา จะมีสันร่อง เป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน) สันร่องนี้ สามารถบอก อายุของช้างได้ ฟันชุดใหม่จะงอกมาจากด้านใน แล้วดันชุดเก่า ออกไป ฟันชุดสุดท้าย หลุดหมดเมื่อใด ช้างจะกินอาหารไม่ได้ ร่างกายจะซูบผอม อ่อนแอ และตายในที่สุด ช้างเอเชีย และแอฟริกา มีสูตรฟันเหมือนกันคือ (0-1-3-3 กับ 0-0-3-3)

ต่อน้ำมัน

เรียกว่า Temparal gland อยู่ระหว่าตา กับรูหู ข้างละต่อม จะมีทั้งในช้างเพศผู้ และเพศเมีย ช่วงที่ช้าง กำลังจะเริ่มมีอาการตกมัน น้ำมันมีกลิ่นเหม็นแรงมาก ลักษณะคล้ายกับน้ำมันหมูข้น ๆ ควาญจะต้องนำช้าง แยกออกไปอยู่ไกล ๆ จากช้างตัวอื่น ๆ ให้ช้างอยู่ในที่เงียบสงบ และล่ามด้วย โซ่เส้นใหญ่ ควาญจะก่อกองไฟ เพื่อกลบกลิ่น ป้องกันช้างตัวอื่น เข้าไปทำร้าย ช้างที่ตกมัน หากน้ำมันไหลเข้าปากช้างที่กำลังตกมัน ช้างจะยิ่งแสดงอาการดุร้ายยิ่งขึ้น

รูปร่าง

ช้างเอเชียมีรูปร่างอ้วนป้อม หลังจะโค้ง เป็นรูปโดมตรงกลาง ช้างเอเชียเพศผู้ ที่โตเต็มที่จะมีความสูงเฉลี่ย 2.4-2.9 เมตร (สูงสุด 3.2 เมตร) มีน้ำหนักประมาณ 3,500-4,500 กิโลกรัม ช้างเพศเมีย ที่โตเต็มที่ มีความสูง ประมาณ 2.1-2.4 เมตร (สูงสุด 2.7 เมตร) มีน้ำหนักประมาณ 2,300 -3,700 กิโลกรัม ความยาว ของลำตัว วัดจากหัวจรดหาง ประมาณ 4 เมตร ในช้างป่า วัดความสูง โดยการวัด รอบรอยเท่าหน้า จากรอยเท้า บนพื้นดินแล้วคูณด้วย 2 จะได้เป็นความสูง ของช้างเชือกนั้น ในช้างเพศเมีย หรือช้างพังจะมีเต้านม 1 คู่อยู่ตรงบริเวณอก ระหว่างขาคู่หน้า ส่วนอวัยวะเพศเมีย จะอยู่ระหว่างขาคู่หลัง ซึ่งต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ที่อยู่ใต้รูเปิดทวารหนัก เปิดใกล้โคนหาง อวัยวะเพศผู้ จะอยู่ค่อนมาทางหน้าท้อง

ผิวหนัง

ผิวหนังของช้างเอเชีย ปกติจะมีสีน้ำตาลเข้มถึงเทา ( Leakul dt al., 1977 b.) ความหนาของผิวหนัง ตามส่วนต่างๆ ไม่เท่าหัน มีความหนาประมาณ 0.5-1 นิ้ว ผิวหนังบริเวณศีรษะ และหลังบางส่วน หนาประมาณ 2 นิ้ว ลักษณะผิวหนัง มีรอยย่นคล้ายผิวน้อยหน่า และมีความไว ต่อการสัมผัสทุกจุด ต่อมเหงื่อตามผิวหนัง ขนาดเล็กมาก ซึ่งขับเหงื่อออกมาเพียงล็กน้อย จะพบเห็นชัดบริเวณโคนเล็บโดยสังเกต จากรอยเปียก ที่มีฝุ่นเกาะอยู่ ขนตามผิวหนัง จะพบได้น้อย แต่จะพบมากในลูกช้าง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ริมฝีปากล่างและบน รูหู บนหลัง และปลายหาง เมื่อช้างโตขึ้นขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป ยังเหลือประปรายห่าง ๆ ขนมีลักษณะเส้นโต แข็ง ตั้งชันยากต่อการถอน ผิวหนังสามารถเคลื่อนไหวได้ โดยอาศัยกล้ามเนื้อพิเศษด้านล่างที่มีชื่อว่า Camosus

ขา

ช้างมีขาที่ใหญ่ ตรง คล้ายต้นเสา ขาหน้า จะรับน้ำหนักมาก เพราะมีส่วนหัวอยู่ ขาหน้าจะยาวกว่าขาหลัง เล็กน้อย ดังนั้น เวลายืนปกติ หน้าจะเชิด การย่างก้าวแต่ละครั้ง จะสม่ำเสมอ เท้าหลังจะก้าวเหยียบ ซ้ำรอยเท้าหน้าเสมอ เท้าหน้ายังทำหน้าที่ ตรวจสอบพื้นที่ ๆ จะเหยียบ ว่าจะมีอันตรายหรือไม่ ช้างที่แก่ ขาจะโก่ง หรือถ่างออก ฝ่าเท้าหน้ามีสัณฐานกลม ส่วนเท่าหลังจะรี ในช้างเอเชียเท้าหน้าแต่ละข้างมี 5 เล็บ เท้าหลังแต่ละข้างจะมี 4 เล็บ แต่บางตัวเท้าหลัง 5 เล็บ เรียกช้างที่มีเล็บเท้าครบ ข้างละ 5 เล็บนี้ว่า "ครอบกระจอก" ส่วนช้างแอฟริกา จะมีเล็บเท้าหน้า ข้างละ 4 เล็บ เท้าหลังข้างละ 3 เล็บ อุ้งเท้ามีหมอนรอง เหมือนซ่นรองเท้า ช้างจึงเดินเงียบ และสามารถเดิน บนถนนที่แข็งแรง หรือพื้นทราย หรือผิวถนน ขณะแดดร้อนได้

หาง

ช้างจะมีโคนหางใหญ่ มีกระดูกหางอยู่ภายใน ลูกช้างที่เกิดใหม่ จะมีหางยาวระพื้น เมื่อโตขึ้น หางจะอยู่ระดับข้อเท้าหลัง มีช้างบางราย ที่หางระดิน ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะ ที่ไม่ดี แต่หางก็ต้องไม่สั้นเกินไป ปลายหางมีขนเป็นแผงตั้ง ไม่ขนานกับพื้นดิน ขนเหล่านี้ งอกออกเป็นพวงตรงปลาย ประมาณ 2-3 นิ้ว เส้นขนหางยาวประมาณ 7-8 นิ้ว ออกมาจากรูขนละ 2-3 เส้น

1 ความคิดเห็น: